ECPAT Foundation Thailand

สถานการณ์การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก

"เด็ก" หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ซึ่งแท้จริงแล้ววัยเด็กเป็นวัยที่เชื่อมั่นในตนเอง มีความฝัน รู้จักให้โอกาสตนเอง ไม่กลัวที่จะแสดงออก หัวเราะ สนุก มีความสุขอย่างเต็มที่ ซึ่งปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคม คือ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (Sexual Exploitation of Children : SEC) การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก หมายถึง การบังคับ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใด ให้เด็กกระทำการใด หรือไม่กระทำการใด อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กใน 6 รูปแบบ ได้แก่

  1. การแสวงหาประโยชน์จากเด็กในการค้าประเวณี
  2. การค้าเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ
  3. การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในการเดินทางและการท่องเที่ยว
  4. การบังคับเด็กแต่งงาน
  5. วัตถุหรือสิ่งแสดงการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก และ
  6. การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กออนไลน์

โดยมีผู้ที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการแสวงประโยชน์จากทั่วโลก มี 4.5 ล้านคน และ 20% ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเหล่านี้คือเด็ก ๆ

การแสวงหาประโยชน์จากเด็กในการค้าประเวณี

ในสังคมไทยมีปรากฏการณ์การค้าประเวณีตั้งแต่อดีต มีรูปแบบที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมที่เป็นพลวัต เช่น สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ความยากจน การขาดการศึกษา สภาพสังคม วัฒนธรรม ทำให้การค้าประเวณีมีพัฒนาการจากรูปแบบที่เป็นกระบวนการมากขึ้น เช่น ใน 30 ปีก่อน สังคมชนบทในภาคเหนือ มีการค้าประเวณี ที่นายทุนมีการจ่ายเงินจองตัว หรือการจ่ายเงินแก่พ่อแม่ของเด็กสาวไว้ล่วงหน้า แล้วนำตัวเด็กสาวไปประกอบอาชีพค้าประเวณีเพื่อใช้หนี้ ที่เรียกว่า "ตกเขียว" แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีการขยายโอกาสให้มีการศึกษา มีโอกาสในการทำงาน มีรายได้เพิ่ม การตกเขียวเด็กสาวในสังคมชนบทเริ่มหายไป โดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าประเวณีตามยุคสมัยทางสังคม เช่น ในปัจจุบันสื่อ เทคโนโลยีเป็นปัจจัยหนึ่งที่เอื้อต่อการค้าประเวณีผ่านออนไลน์ เป็นต้น

ข้อมูลสถานการณ์การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในประเทศไทยของมูลนิธิเอ็คแพท ระบุว่า ปัจจุบันการค้าประเวณีเด็กเปลี่ยนรูปแบบจากการกระทำอย่างโจ่งแจ้ง ไปเป็นรูปแบบที่ซับซ้อนและมีการหลบซ่อนมากขึ้น (เช่น การขายบริการผ่านสื่อออนไลน์ ร้านเกมส์) แม้ว่าจะมีข้อมูลจากการวิจัยเอกสารยืนยันว่ามีเด็กจำนวนมากเข้าสู่ธุรกิจค้าประเวณีในประเทศไทย แต่จำนวนที่แท้จริงกลับไม่ทราบแน่ชัด เด็กกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงเข้าสู่การค้าประเวณี ได้แก่ เด็กเร่ร่อน เด็กแรงงานต่างชาติ เด็กผู้ลี้ภัย เด็กชนกลุ่มน้อยและเด็กไร้สัญชาติ และพบว่ามีเด็กเข้าสู่การค้าประเวณีโดยสมัครใจจำนวนไม่น้อย เนื่องจากหน่วยงานต่าง ๆ มีความเห็นไม่ตรงกันถึงนิยามดังกล่าว จึงทำให้เกิดความสับสนต่อการคัดแยกเด็ก "ที่ค้าประเวณีโดยสมัครใจ" และ "เด็กที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์" เด็กผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทางเพศในเมืองใหญ่ ๆ อย่างกรุงเทพฯ มาจากภาคเหนือมากที่สุด และส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 15-17 ปี และเมืองท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต ยังเป็นแหล่งใหญ่ของธุรกิจค้าประเวณีเด็ก โดยมาจากความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะมีผู้ซื้อบริการชาวไทยด้วยเช่นกัน

ในอดีตเมื่อมีการกล่าวถึงสาเหตุของการเกิดปัญหาค้าประเวณี นักวิชาการทางสังคมศาสตร์ และนักสังคมสงเคราะห์จะมุ่งเน้นไปที่ 2 ประเด็นคือ คือ 1. ความยากจน เป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่การค้าประเวณี โดยผู้ค้าประเวณีต้องการยกระดับด้านเศรษฐกิจของครอบครัว การมีงานทำ จึงนำไปสู่การค้าประเวณีด้วยความจำเป็น และ 2. การถูกล่อลวงและบังคับให้ค้าประเวณี

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีปัจจัยในมิติด้านอื่น ๆ ของการค้าประเวณี และพบว่าจำนวนผู้ค้าประเวณีมิได้ลดลง จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์และปัญหาด้านนโยบาย กฎหมายในประเทศไทยช่วงปี 2559-2560 ที่จัดทำขึ้นโดย โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (ALT) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา( HRDF) พบว่า มีจำนวนผู้ค้าประเวณีและถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศเพิ่มขึ้นจากปี 2559 มีการดำเนินคดีค้ามนุษย์ ด้านบังคับค้าประเวณี 244 คดี ปี 2560 มีการดำเนินคดีค้ามนุษย์ ด้านบังคับค้าประเวณี 246 คดี และผลประโยชน์ทางเพศ 2 คดี สรุปสาเหตุได้ดังต่อไปนี้

  1. สังคมวัตถุนิยม และบริโภคนิยม การเข้ามาของทุนนิยมที่มีสินค้าบริการอำนวยความสะดวก มีการกระตุ้นการขายสินค้าที่ดึงดูดอย่างหลากหลาย ทำให้ผู้คนในสังคมแสวงหาความอยากทางด้านวัตถุเพิ่มขึ้น เป็นช่องว่างในการนำไปสู่การค้าประเวณีเพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านบริโภคนิยม
  2. นโยบายการเพิ่มรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวและเดินทางของประเทศไทยที่ส่งเสริมการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาในประเทศอย่างสะดวก เกิดช่องว่างในการควบคุมและคัดกรองนักท่องเที่ยว โดยมีโอกาสที่นักท่องเที่ยวผู้มุ่งแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กจะสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อกระทำการแสวงหาประโยชน์ทางเพศได้
  3. สื่อเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็ว ทันสมัย เป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมในการใช้แสวงหาประโยชน์ทางเพศในการค้าประเวณีเด็ก

การค้าเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ

แม้ว่าในปี พ.ศ.2561 ประเทศไทยได้รับการเลื่อนอันดับตามรายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ตามกฎหมาย Trafficking Victims Protection Act of 2000 (TVPA) จากปี พ.ศ. 2560 ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ 2 ประเทศที่ต้องจับตามอง หรือ Tier 2 Watchlist ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 2 หรือ Tier 2 ปกติ ซึ่งหมายถึงประเทศที่ยังพบปัญหาการค้ามนุษย์ แต่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นพยายาม และให้ความร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยการบังคับใช้กฎหมาย การคุ้มครองผู้เสียหาย และการป้องกันการค้ามนุษย์เป็นอย่างดี

ยังมีข้อมูลการรายงานจากข้อมูลของศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี เยาวชน ครอบครัว และป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ ภาค 5 (ศพดส.ภ.5) เข้าช่วยเหลือเด็กสาวชาวเมียนมาและลาว จำนวน 5 ราย ที่ถูกนำมาแสวงหาประโยชน์ทางเพศในร้านนวดแผนโบราณในปลายปี 2561 แม้จะดูเป็นตัวเลขจำนวนน้อย แต่ก็เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าการค้าเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศมีอยู่ และมีรูปแบบ/วิธีการในการค้าเด็กที่หลากหลาย และทำให้ระบุตัวตน และการตรวจสอบที่ยากขึ้น

วัตถุหรือสิ่งแสดงการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก

จากการรวบรวมข้อมูลของคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต (TICAC) ระหว่างปี 2558-2561 มีการจับกุมผู้กระทำผิดคดีค้ามนุษย์ จำนวน 21 คดี, คดีล่วงละเมิดทางเพศเด็ก จำนวน 13 คดี, คดีครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก จำนวน 31 คดี และส่งกลับออกนอกราชอาณาจักร จำนวน 6 คดี โดยพบว่าผู้กระทำความผิดเป็นผู้ต้องหาชาวไทย จำนวน 38 คน และผู้ต้องหาต่างชาติ จำนวน 35 คน จากทั้งหมด 71 คดี และที่ผ่านมาศูนย์ไทแคค ได้รับเบาะแส จำนวน 209 เรื่อง ดำเนินคดีไปแล้ว 121 คดี และที่เหลืออยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผลต่อ ซึ่งปัจจุบันได้มีการกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก ดังต่อไปนี้

  • มีการครอบครอง-ส่งต่อ สื่อลามกอนาจารเด็ก มีบทลงโทษกำหนดให้การครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศของตนเองและผู้อื่น มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกำหนดให้การส่งต่อแก่ผู้อื่น มีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 287/1
  • มีสื่อลามกอนาจารเด็กเพื่อการค้า-แจกจ่าย-เผยแพร่ สื่อลามกอนาจารเด็ก เพิ่มโทษหนัก จำคุกสูงสุด 10 ปี กำหนดความผิดของการทํา ผลิต มีไว้ นําเข้า หรือส่งออก หรือเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็กด้วยวิธีใดๆ การค้า การแจกจ่าย การแสดง หรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้า สื่อลามกอนาจารเด็ก การโฆษณาว่าสื่อลามกอนาจารเด็กจะหาได้จากบุคคลใด หรือโดยวิธีใด ให้มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท ตามมาตรา 287/2

การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในการเดินทางและการท่องเที่ยว

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากรายงานการวิจัยของเอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล (ECPAT International) เมื่อ พ.ศ. 2557 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเจริญด้านการท่องเที่ยวและเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก ซึ่งประเด็นการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในการเดินทางและการท่องเที่ยวโดยชาวต่างชาติ ได้ถูกเน้นให้เป็นประเด็นสำคัญขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจุดหมายปลายทางการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ดึงดูดผู้กระทำผิดทางเพศต่อเด็กให้เดินทางเข้ามา คือ ประเทศไทย และฟิลิปปินส์ ในขณะที่กัมพูชา อินโดนีเซีย และเวียดนาม กำลังกลายมาเป็นประเทศปลายทางหลัก ส่วนเมียนมาร์ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเนื่องจากเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ในขณะที่มีการมุ่งความสนใจไปที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเป็นเวลานาน แต่พบว่าผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นผู้ชายในประเทศ

การเติบโตของการเดินทางและการท่องเที่ยวก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเด็กโดยเฉพาะ เนื่องจากผู้ล่วงละเมิดทางเพศเด็กไม่มีรูปแบบเฉพาะ และในบางครั้งมีคนกลางในการอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ซึ่งจากงานวิจัย พบว่า การขาดคำจำกัดความของปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในการเดินทางและการท่องเที่ยวที่ชัดเจน เป็นอุปสรรคต่อการตอบสนองต่อปัญหาอย่างมีประสิทธิผล รวมถึงการปฏิบัติงานที่ไม่อาจกำหนดได้ว่า "แนวทางแบบเดียวกันสามารถใช้ได้กับทุกคน" ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีความผิดกับผู้ล่วงละเมิด หรือ การให้ความช่วยเหลือเด็กที่เป็นผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายเองก็ไม่มีรูปแบบเฉพาะ ฉะนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันและตอบสนองต่อปัญหาให้เข้ากับสถานการณ์เฉพาะ จึงจะได้ประสิทธิผล และต้องมีทรัพยากรอย่างเพียงพอเพื่อดูแลเด็กผู้เสียหายจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า ผู้ละเมิดทางเพศเด็กในประเทศไทยปี 2003-2013 30% อังกฤษ 12% อเมริกา 19% เยอรมณี 7% ออสเตรเลีย 5% ฝรั่งเศส 4% สวีเดน และ 18% อื่นๆ

การบังคับให้เด็กแต่งงาน

องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ พบว่าผู้หญิงที่แต่งงานและมีลูกแล้ว 1 ใน 3 หรือ 250 ล้านคนทั่วโลก แต่งงานก่อนอายุ 15 ปี เป็นเด็กหญิง 1 ใน 3 ในประเทศกำลังพัฒนา แต่งงานก่อนอายุ 18 ปี และมีถึง 1 ใน 9 แต่งงานก่อนอายุ 15 ปี การสำรวจขององค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า ใน 166 หมู่บ้าน จาก 9 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย พบว่าผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่แต่งงานมีสัดส่วนถึง 65.1% และช่วงอายุที่น้อยที่สุดที่แต่งงานคือ 11 ปี ซึ่งมีทั้งการแต่งงานระหว่างเด็กกับเด็กและเด็กกับผู้ใหญ่ สาเหตุโดยทั่วไป มาจากการที่เด็กมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น และผู้ปกครองของเด็กจะแก้ปัญหา โดยการให้เด็กแต่งงานกันตามประเพณี รวมทั้งการที่ผู้ใหญ่กระทำความรุนแรงทางเพศต่อเด็กจะมีวิธีการแก้ไขปัญหา ด้วยการแต่งงานเช่นเดียวกัน

แม้ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามไม่ให้ใครก็ตาม ที่อายุต่ำกว่า 17 ปี แต่งงาน แต่ครอบครัวบางครอบครัวใน จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะครอบครัวที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี มีการสนับสนุน บังคับให้ลูกสาวของตัวเองแต่งงานกับชายจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ช่องว่างทางกฎหมายที่อนุญาตชาวมุสลิมใช้กฎหมายอิสลามเข้ามาจัดการเรื่องในครอบครัวแทนกฎหมายปกติ โดยกฎหมายอิสลามไม่ได้กำหนดอายุขั้นต่ำของการแต่งงานและมองว่า เด็กหญิงที่มีรอบเดือนแล้วมีความพร้อมในการแต่งงาน เพราะฉะนั้นพื้นที่ดังกล่าว ยังมีการแต่งงานในวัยเด็กที่นำไปสู่การข่มขืนและการตั้งครรภ์ในวัยไม่พร้อม

ทั้งนี้การเพิกเฉยต่อปัญหาดังกล่าวของรัฐบาลไทยเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดธุรกิจการแต่งงานข้ามชาติ เช่นชายมาเลเซียหลายคนยอมจ่ายเงิน เพื่อใช้โอกาสนี้แต่งงานกับสาววัยแรกรุ่น หรือเดินทางข้ามประเทศเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์ต้องการเด็กหญิงเหล่านี้เป็นภรรยาน้อย เพราะในประเทศมาเลซียมีกฎหมายกำหนดเกณฑ์อายุที่ชัดเจนในการแต่งงาน รวมทั้งการอยู่แบบหนึ่งสามีหลายภรรยา

การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กออนไลน์

สถานการณ์การแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กออนไลน์มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และพบการล่วงละเมิดในหลายรูปแบบ เช่น การผลิตภาพลามกเด็กและอัพโหลดขึ้นสู่โซเชียลมีเดีย การไลฟ์สด การส่งภาพโป๊ระหว่างเด็กด้วยกันเอง การใช้ภาพโป๊เพื่อแบล็คเมล์เด็ก และการละเมิดซ้ำออนไลน์ เป็นต้น

จากสัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้ใช้งานทั่วโลกในปี 2017 โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) พบว่า ประชากรโลกส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีช่วงอายุประมาณ 15-24 ปี ซึ่งสะท้อนว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเป้าหมายของภัยคุกคาม ความรุนแรง และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศบนโลกออนไลน์ได้มากที่สุด โดยตัวเลขสถิติจาก www.thaihotline.org ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่ามีการรายงานรับแจ้งสื่อลามกอนาจารเด็กเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 640 รายการในปี 2016 เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัวเป็น 1,400 รายการในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลงานวิจัยที่ ECPAT จัดทำร่วมกับองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (INTERPOL) ที่พบว่ายิ่งผู้ตกเป็นเหยื่อมีอายุน้อย อัตราการถูกล่วงละเมิดยิ่งมีแนวโน้มรุนแรงและเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นเด็กช่วงก่อนเข้าสู่วัยรุ่นสูงถึง 56.2% และเป็นแค่เด็กทารก 4.3% ซึ่งเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และยังไม่สามารถระบุตัวตนได้

ปัจจุบันมีการส่งต่อและเผยแพร่สื่อลามกอนาจารและการทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กในรูปแบบต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น ไฟล์ภาพ คลิปวิดีโอ ข้อความลามก และการถ่ายทอดสด (Live Streaming) โดยใช้การขู่กรรโชกหรือแบล็กเมล์เพื่อแสวงหาประโยชน์หรือเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ ซึ่งข้อมูลจากบริษัทไมโครซอฟท์ (2018) เปิดเผยว่าในทุกๆ 60 วินาทีมีการซื้อขายและส่งต่อภาพลามกอนาจารเด็กประมาณ 500 ภาพทั่วโลก โดยในแต่ละวันมีไฟล์ภาพทั้งที่ลามกและไม่ลามกได้รับการอัปโหลดและส่งต่อกันทั้งหมดกว่า 1.8 พันล้านภาพ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยสามารถจับกุมผู้ต้องหาชาวสวิตเซอร์แลนด์ผู้เป็นนักสะสมสื่อลามกอนาจารเด็กติด 10 อันดับแรกของโลกได้ภายในประเทศไทย พร้อมพบหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอกว่า 248 ไฟล์ ซึ่งผู้เสียหายอายุน้อยที่สุดเป็นเด็กวัยเพียง 4 ขวบ อีกทั้งรายงานของ UNODC ยังระบุถึงแนวโน้มว่าไทยกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางการล่วงละเมิดทางเพศเด็กผ่านทางเว็บแคมแห่งใหม่ในภูมิภาคนี้แทนที่ฟิลิปปินส์อีกด้วย

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้มาตรการป้องกันแบบเดิมไร้ผล แม้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอาจจะยังมีข้อท้าทายทั้งในเรื่องนโยบายและแนวทางในเชิงกฎหมายที่บางจุดอาจมีความล้าสมัย ขาดการนิยามที่แน่ชัด มีบทลงโทษต่ำเกินไปในบางกรณี การขาดกลไกสนับสนุนที่เหมาะสมในการดำเนินคดีในกรณีข้ามชาติ รวมถึงขาดการเก็บรวบรวมและแชร์ข้อมูล Big Data ระหว่างกัน ทำให้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องภัยคุกคาม ความรุนแรง และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศกับเด็กบนโลกออนไลน์ได้อย่างเด็ดขาด อีกทั้งการระบุตัวผู้กระทำผิดสามารถทำได้ยาก คดีที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กออนไลน์มีองค์ประกอบของหลายคดีร่วมอยู่ด้วย อาทิ ชาวต่างชาติใช้อินเตอร์เน็ตติดต่อเด็ก เดินทางมาล่วงละเมิดเด็ก

อย่างไรก็ดีหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยยังคงเดินหน้าและผลักดันการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังมุ่งหวังและค้นหามาตรการที่ดีที่สุดในการเตรียมรับมือ ส่งเสริมความตระหนักรู้ และสร้างความร่วมมือให้ครอบคลุมมิติต่างๆ เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับความคุ้มครองสูงสุดและได้รับการปกป้องจากภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ตามหลักปฏิบัติมาตราฐานสากล

"10 สถานการณ์วิกฤตภัยออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชน"

หน่วยงานรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ควรสร้างมาตรการระวัง ป้องกันภัย และรับมือได้แล้ว คือ

ที่กำลังกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม และเป็นทั้งโอกาสที่จะเปลี่ยนเด็กให้เป็นคนเล่นเกมล่าเงินรางวัลหรืออาจเสี่ยงนำไปสู่ปัญหาการสร้างความหวัง ความฝันที่จะเล่นเกมมืออาชีพแต่อาจจะติดเกมมากขึ้นหากรัฐและพ่อแม่ไม่เข้ามาใส่ใจดูแล

เนื่องจากค้นพบว่าประเทศไทยไม่มีการกำกับช่วงวัยและอายุที่เหมาะสม ทั้งในเชิงกฎหมาย และนโยบายรัฐ สถานศึกษา แต่ในเชิงการแพทย์ไทยเริ่มมีคำแนะนำเรื่องหน้าจอที่วัยเหมาะสมคือ อายุ ต่ำกว่า 2 ขวบห้ามเข้าถึงหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดแล้ว

พบว่า ปัจจุบันช่องทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ ต่างๆ มีจำนวนมากที่เป็นสื่อเพื่อการพนัน ที่ปรากฏทั้งในลักษณะของเว็บพนันบอลโดยตรง หรือ การพนันผ่านรูปแบบคาสิโนออนไลน์ หรือแอบแฝงมาในลักษณะของเกมออนไลน์ และยังไม่มีกฎหมายกำกับควบคุมโดยตรงอีกทั้งเว็บไซต์เหล่านี้ยังโฆษณาผ่านสื่อเพื่อเผยแพร่ ล่อลวงให้เด็กเข้าไปเล่นลองมากขึ้น

และการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศออนไลน์ โดยเฉพาะการลังแกผ่านการถ่ายคลิปเพื่อประจานและเผยแพร่ แชร์ ปรากฏผ่านการรายงานข่าวของสื่อมวลชนอยู่เนืองๆ ส่งต่อในระดับโรงเรียนประถม และมัธยม ที่น่ากังวลคือยังไม่มีผลการสำรวจทั่วประเทศ ปัญหานี้กลายเป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครสำรวจ วิจัยและป้องกันอย่างจริงจัง ซึ่งแตกต่างกับของต่างประเทศที่เรืองนี้นำไปสู่มาตรการทางกฎหมายและนโยบายของโรงเรียนและความตระหนักรู้ของครูและพ่อแม่ผู้ปกครอง

ผลการสำรวจในประเทศยังพบน้อยในเชิงสถิติวิจัย แต่โดยในเชิงพฤติกรรมทางสังคม เคยมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าปัญหานี้กลายเป็นพฤติกรรมต้นๆ ที่เด็กไม่ทราบว่าอันตรายและนำไปสู่การข่มขืน ถ่ายภาพบันทึกและการแบล็คเมล์กลับ ซึ่งเกิดขึ้นมากแต่ไม่มีการเก็บสถิติบันทึกที่ชัดเจนเนื่องจากมักเป็นกรณีที่เหยื่อ หรือครอบครัวไม่ต้องการให้เป็นข่าว

6. การใช้สื่อไปในทางเสริมสร้างอัตลักษณ์ออนไลน์สร้างภาพและเลียนแบบพฤติกรรม ค่านิยมที่ผิด

7. การหลงผิดเปิดเผยข้อมูลและความเป็นส่วนตัวบนสื่อออนไลน์

8. การขาดการส่งเสริมสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ต่อตัวเด็ก เยาวชนและครอบครัว

9. การขาดกฎหมายปกป้องคุ้มครองเด็กจากสื่อออนไลน์

10. การขาดหน่วยงานกำกับดูแล ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่บูรณาการและเท่าทันสถานการณ์โดยเฉพาะ

ที่มาจาก COPATcenter